ประวัติความเป็นมา
๑. ความเป็นมาของการแบ่งกลุ่มจังหวัด
การบริหารงานเชิงยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดเป็นรูปแบบใหม่ของการบริหารงานแบบบูรณาการ ให้มีความเหมาะสมมากขึ้นในรูปของการรวมกลุ่มจังหวัดที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงในด้านต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยให้การวางกรอบทิศทางการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรเป็นไปอย่างมีระบบและร่วมกันแก้ไขปัญหาระหว่างจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๖ และวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ เห็นชอบให้จัดตั้งกลุ่มจังหวัดรวม ๑๙ กลุ่มจังหวัด
การบริหารงานของกลุ่มจังหวัดในระยะเริ่มต้น พบปัญหาสำคัญ ๓ ประการคือ ๑. ปัญหาไม่มีงบประมาณในการบริหารงาน ๒. ขาดบุคลากร และ ๓.ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับองค์กรรับผิดชอบ จึงให้การบริหารงานกลุ่มจังหวัดไม่บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งเป็นสำนักบริหาร ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด
๒. ผลการปรับปรุงการจัดกลุ่มจังหวัดและการกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์การปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด
๒.๑ ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
(๑) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑๓ กำหนดว่า เพื่อประโยชน์ในการประสานงานและความสะดวกในการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ให้ส่วนราชการปรับปรุงการกำหนดเขตพื้นที่ตรวจราชการให้สอดคล้องกับเขตตรวจราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี
(๒) คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๙ ได้พิจารณาว่า โดยที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการพัฒนาระบบราชการมาแล้วเป็นระยะเวลานานพอสมควรใน ๓ เรื่องหลัก คือ (๑) การปรับโครงสร้างระบบราชการ (๒) การจัดองค์กรการบริหารและ (๓) การนำเครื่องมือ/เทคนิคการบริหารจัดการและการประเมินผลมาใช้ จึงควรมีการประเมินผลการพัฒนาระบบราชการและดำเนินการของสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ผ่านมา โดยให้ทุกกระทรวงส่งข้อมูลความเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้างต้นให้สำนักงาน ก.พ.ร. ภายใน ๑๕ วันแล้วให้สำนักงาน ก.พ.ร. ประมวลผลเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) พิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
(๓) ก.พ.ร. ในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๙ รองนายกรัฐมนตรี (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) ประธาน ก.พ.ร. ได้มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. ประมวลข้อคิดเห็นและข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างและระบบบริหารของส่วนราชการต่าง ๆ แล้ววิเคราะห์นำเสนอ ก.พ.ร. และคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป
(๔) จากข้อความคิดเห็นของส่วนราชการและจังหวัดที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้รับในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่วนราชการในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงราชการบริหารส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค มีประเด็นข้อเสนอ ว่าการจัดกลุ่มจังหวัดดังกล่าวไม่เหมาะสม ควรมีการทบทวนการจัดกลุ่มและการจัดจังหวัดภายในกลุ่มจังหวัดใหม่ เพื่อให้เกิดศักยภาพและการพัฒนาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
(๕) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้บัญญัติเรื่องการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ให้มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของจังหวัดและอำเภอ จัดตั้งงบประมาณของจังหวัด จัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกำหนดให้มีคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดโดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการของกลุ่มจังหวัด โดยสรุป คือ
มาตรา ๕๒ วรรคสาม เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานแบบบูรณาการในจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดให้จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดยื่นคำขอจัดตั้งงบประมาณได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ในกรณีนี้ให้ถือว่าจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
มาตรา ๕๓/๑ ให้จังหวัดทำแผนพัฒนาจังหวัดให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับชาติและความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นในจังหวัด
ในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดตามวรรคหนึ่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดให้มีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างหัวหน้าส่วนราชการที่มีสถานที่ตั้งทำการอยู่ในจังหวัดไม่ว่าจะเป็นการบริหารราชการส่วนภูมิภาคหรือการบริหารราชการส่วนกลาง และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดในจังหวัด รวมทั้งผู้แทนภาคประชาสังคม และผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน
การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดตามวรรคหนึ่ง จำนวนและวิธีการสรรหาผู้แทนภาคประชาสังคม และผู้แทนภาคธุรกิจเอกชนตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เมื่อประกาศใช้แผนพัฒนาจังหวัดแล้ว การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการดำเนินกิจการของส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐทั้งปวงที่กระทำในพื้นที่จังหวัดต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดดังกล่าว
ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. …. ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๐
๒.๒ การพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
ในการประชุม ก.พ.ร. ครั้งที่ ๑๓/๒๕๕๐ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๐ มีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงการจัดกลุ่มจังหวัดและการกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด และการจัดตั้งสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดเพื่อเป็นกลไกในการดำเนินงานของกลุ่มจังหวัดโดยมีรายละเอียด ดังนี้
(๑) แนวทางการจัดกลุ่มจังหวัด
การปรับปรุงการจัดกลุ่มจังหวัดครั้งนี้คงใช้แนวทางเดิม แต่จะยึดลักษณะเขตพื้นที่ที่ติดต่อกันหรือเป็นการรวมกลุ่มจังหวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่ติดต่อกันหรือต่อเนื่องกันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานหรือข้อพิจารณาเบื้องต้นของการจัดกลุ่มจังหวัดใช้ประเด็นยุทธศาสตร์ หรือทิศทางการพัฒนาจังหวัด ที่สอดคล้องกัน หรือเกื้อหนุนต่อกัน เป็นแนวการพิจารณาขั้นที่สอง และประการสุดท้ายพิจารณาจากความเกี่ยวเนื่องทางเศรษฐกิจ การผลิต การค้า และการลงทุนเพื่อมูลค่าเพิ่ม และการได้เปรียบในการแข่งขันร่วมกัน รวมทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมกันระหว่างจังหวัด
สาเหตุที่ให้ความสำคัญกับการเป็นเขตพื้นที่ติดต่อกันนั้น มาจากสมมุติฐานที่ว่าจังหวัดที่อยู่พื้นที่ติดกัน จะมีลักษณะทางภูมิประเทศ ประเพณี วัฒนธรรม ค่านิยม ใกล้เคียงกันมีการแบ่งตามลักษณะของพื้นที่เศรษฐกิจและสังคมที่มีความใกล้เคียงกัน มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ติดต่อกัน มีจุดอ่อน จุดแข็ง ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติที่คล้ายคลึงกัน จะทำให้ง่ายกับการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันได้ นอกจากนั้นแล้วการที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันจะมีปัญหาและความต้องการคล้าย ๆ กัน สะดวกในการประสานงานและบูรณาการการพัฒนาในกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(๒) แนวทางการกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด
๑) การกำหนดให้มีจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัดจะทำให้มีโครงสร้างองค์กรที่รับผิดชอบการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดอย่างชัดเจน และเป็นผู้ใช้กลไกการบูณราการการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดในภาพให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติโดยจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัดจะเป็นแกนกลางในการประสานงานและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัด โดยเป็นที่ตั้งของสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด และเป็นหน่วยงานในการรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณหรือการทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด
๒) แนวทางในการกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัดต้องเป็นจังหวัดที่มีลักษณะสอดคล้องกับลักษณะข้อใดข้อหนึ่งหรือมากกว่า ดังนี้
(๑) เป็นจังหวัดที่มีการคมนาคม ติดต่อสื่อสารและเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดในกลุ่มได้สะดวก
(๒) เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(๓) เป็นศูนย์กลางทางสังคมและวัฒนธรรม หรือเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาที่สามารถสนับสนุนความรู้ทางวิชาการให้กับจังหวัดภายในกลุ่มจังหวัดได้
(๔) เป็นศูนย์กลางของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และธุรกิจต่างๆ
(๕) เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินการในเรื่องแผนงาน งบประมาณ และทรัพยากรทางการบริหารให้กับจังหวัดอื่นในกลุ่มได้
๓) รูปแบบในการจัดกลุ่มจังหวัด จากแนวทางการปรับปรุงกลุ่มจังหวัดและการกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด ประกอบกับการสอบทานข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว จึงเห็นควรปรับปรุงการจัดกลุ่มจังหวัด เป็น ๑๘ กลุ่มจังหวัด พร้อมทั้งกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด เพื่อเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ
๒.๓ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๑ เห็นชอบการปรับปรุงกลุ่มจังหวัด และการกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัดตามที่สำนักงาน ก.พ.ร.เสนอ ดังนี้
กลุ่มจังหวัด | จังหวัดในกลุ่ม | จังหวัดที่เป็น ศูนย์ปฏิบัติการ กลุ่มจังหวัด |
๑.ภาคกลางตอนบน ๑ | นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี | พระนครศรีอยุธยา |
๒.ภาคกลางตอนบน ๒ | ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง | ลพบุรี |
๓.ภาคกลางตอนกลาง | ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก สมุทรปราการ | ฉะเชิงเทรา |
๔.ภาคกลางตอนล่าง ๑ | กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรีสุพรรณบุรี | นครปฐม |
๕.ภาคกลางตอนล่าง ๒ | ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม | เพชรบุรี |
๖.ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย | ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง | สุราษฎร์ธานี |
๗.ภาคใต้ฝั่งอันดามัน | ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง | ภูเก็ต |
๘.ภาคใต้ชายแดน | สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส | สงขลา |
๙.ภาคตะวันออก | จันทบุรี ชลบุรี ระยอง ตราด | ชลบุรี |
๑๐ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ๑ | หนองคาย เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู | อุดรธานี |
๑๑ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ๒ | นครพนม มุกดาหาร สกลนคร | สกลนคร |
๑๒ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง | ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ | ขอนแก่น |
๑๓ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ | อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี | อุบลราชธานี |
๑๔ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๒ | สุรินทร์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ | นครราชสีมา |
๑๕ ภาคเหนือตอนบน ๑ | เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน | เชียงใหม่ |
๑๖ ภาคเหนือตอนบน ๒ | น่าน พะเยา เชียงราย แพร่ | เชียงราย |
๑๗ ภาคเหนือตอนล่าง ๑ | ตาก พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ | พิษณุโลก |
๑๘ ภาคเหนือตอนล่าง ๒ | กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี | นครสวรรค์ |
ความเป็นมา ของการจัดตั้งสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด:OSM
๑. ความเป็นมาของการจัดตั้งสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด : OSM
(๑) แนวคิดของ Kaplan และ Norton
Robert S. Kaplan และ David P. Norton ได้เสนอแนวความคิดในวารสาร Harvard Business Review เรื่อง The Office of Strategy Management เพื่ออธิบายถึงสาเหตุของความล้มเหลวในการนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ โดยในองค์การส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๖๐-๙๐ มักประสบปัญหาความล้มเหลวในการบริหารยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่องค์การดังกล่าวมีรูปแบบการบริหารงานแบบแยกส่วน (fragmentation) มีขั้นตอนการทำงานที่ต่างคนต่างทำและต่างคนต่างรายงานตรงต่อผู้บังคับบัญชาตามสายบังคับบัญชาของตนเอง ทำให้เกิดปัญหาของการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติภายในองค์การและขาดความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันอย่างเป็นระบบ Robert S. Kaplan และ David P. Norton จึงได้ศึกษาวิจัยและเขียนหนังสือเรื่อง The Strategy-Focused Organization ขึ้น เพื่ออธิบายถึงความสำคัญของการยึดยุทธศาสตร์เป็นหลัก โดยใช้ยุทธศาสตร์เป็นศูนย์กลางของระบบการบริหารจัดการและกระบวนการปฏิบัติงาน รวมถึงอธิบายวิธีการหรือแนวทางในการพัฒนาไปสู่องค์การที่มุ่งเน้นยุทธศาสตร์ ซึ่งได้เสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ในระดับองค์การที่เรียกว่า “สำนักบริหารยุทธศาสตร์ The Office of Strategy Management หรือ OSM” เพื่อทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องการบริหารยุทธศาสตร์เป็นการเฉพาะ มีลักษณะเป็นหน่วยงานขนาดเล็ก คล่องตัวทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการเชื่อมโยงและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในระดับต่าง ๆ ขององค์การไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล ตลอดจนการส่งเสริมให้มีการสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการนำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติ และการประสานงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำยุทธศาสตร์ขององค์การไปสู่การปฏิบัติร่วมกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งแนวคิดและทฤษฎีดังกล่าวได้ถูกหน่วยงานภาครัฐนำไปใช้ประโยชน์ในเวลาต่อมา
(๒) จากแนวคิดของ Kaplan และ Norton ดังกล่าว สำนักงาน ก.พ.ร. และกระทรวงมหาดไทย จึงได้ร่วมหารือและเห็นร่วมกันที่จะให้มีสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด (OSM) เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานระดับปฏิบัติเป็นเจ้าภาพในการประสานยุทธศาสตร์แผนงาน/โครงการในระดับกลุ่มจังหวัด รวมทั้งการขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด ประสานงานกับหน่วยงานอำนวยการระดับชาติได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงาน ก.พ. สำนักงบประมาณและ สศช.
๒. วัตถุประสงค์
การจัดตั้งสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดในจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด เพื่อเป็นเจ้าภาพในการประสานงานเพื่อเชื่อมโยงและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดไปสู่การปฏิบัติให้บังเกิดผลโดยทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของ คณะกรรมการแผนพัฒนาและงบประมาณในระดับกลุ่มจังหวัด
๓. บทบาทของสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด
สำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด จะมีบทบาทหลักในการประสานและบูรณาการ ไม่มีอำนาจในการบริหารสั่งการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือกฎหมายอื่น โดยจะมีบทบาท ดังนี้
๑) เป็นเจ้าภาพในการประสานเพื่อเชื่อมโยงและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาของกลุ่มจังหวัด รวมทั้งการถ่ายทอดเป้าหมายระดับกลุ่มจังหวัดไปสู่เป้าหมายระดับจังหวัด
๒) การบูรณาการแผนงาน โครงการ และงบประมาณของกลุ่มจังหวัด
๓) การบริหารการวัดผลการดำเนินงาน
๔) ส่งเสริมการสื่อสาร การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ เกี่ยวกับการนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ
๕) พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนภายในกลุ่มจังหวัด
๔. หน้าที่ของสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด
๑) งานเลขานุการของคณะกรรมการแผนพัฒนาและงบประมาณในระดับกลุ่มจังหวัด (ก.พ.ก.)
๒) ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ประสานเชื่อมโยงกลยุทธ์ในระดับต่างๆ การบูรณาการแผนงานและงบประมาณ และการเป็นศูนย์กลางข้อมูลยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด
๓) ติดตามประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดและรายงานต่อคณะกรรมการแผนพัฒนาและงบประมาณในระดับกลุ่มจังหวัด
๔) ประสานงานระหว่างจังหวัดภายในกลุ่มจังหวัด รวมทั้งกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องในเรื่องการบูรณาการแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด กับแผนพัฒนาจังหวัด แผนปฏิบัติการของจังหวัด การสนับสนุนและผลักดันการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ และการติดตามผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด
๕) จัดให้มีการประชุมหารือเพื่อการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด รวมทั้งการขอรับความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชนและพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด
๖) จัดทำเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ข้อมูล ความรู้และข่าวสารของกลุ่มจังหวัด
๗) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ ก.พ.ก. มอบหมาย
๕. การจัดองค์กร
๑) คำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ ๑๑๐/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ ให้จัดตั้งสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดขึ้น
๒) เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่รายงานตรงต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย และอยู่ในบังคับบัญชาของผู้ประสานกลุ่มจังหวัด
๖. การแบ่งงานภายในสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด
เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของสำนักบริหารยุทธศาสตร์ ได้แบ่งงานภายในออกเป็น ฝ่ายบริหารทั่วไป กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์ และกลุ่มติดตามและประเมินผล ดังนี้
๑) ฝ่ายบริหารทั่วไป รับผิดชอบงานบริหารภายในสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดที่เกี่ยวกับงานสารบรรณ งานบุคคล งานการเงินและพัสดุ งานด้านเลขานุการและการประชุม และการเผยแพร่ข้อมูล ประชาสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความรู้ภายในกลุ่มจังหวัด
๒) กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์ รับผิดชอบเกี่ยวกับ การศึกษาวิเคราะห์และเสนอแนะในการจัดทำและพัฒนากลุ่มจังหวัด การจัดทำงบประมาณ แผนงาน โครงการของกลุ่มจังหวัด ประสานและบูรณาการแผนงาน โครงการ งบประมาณ ของกลุ่มจังหวัด การพัฒนาฐานข้อมูลของกลุ่มจังหวัดและการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด
๓) กลุ่มติดตามและประเมินผล รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด การติดตามการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามสัญญา และการให้ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตามแผนพัฒนากลุ่มจงหวัด
๗. กรอบอัตรากำลัง
๑) อัตรากำลังที่ปฏิบัติงานในสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด ในระยะเริ่มต้นมีจำนวนไม่เกิน ๗ อัตรา (ข้าราชการ จำนวน ๔ อัตรา และพนักงานราชการ ๓ อัตรา)
๒) คำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ ๒๖๐/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๑ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ระดับ ๖-๗ ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดนำร่อง ๑๐ กลุ่มจังหวัด และมอบหมายให้หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดทั้ง ๑๐ แห่ง ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดอีกหน้าที่หนึ่ง
๓) สำหรับกลุ่มจังหวัดอีก ๘ กลุ่มจังหวัด ให้จัดเจ้าหน้าที่สำนักงานจังหวัดหรือจากหน่วยงานอื่น หรือจ้างลูกจ้างวุฒิปริญญาโท ๒ อัตรา ปริญญาตรี ๑ อัตรา ปฏิบัติงานไปก่อน